ผลิตและจัดจำหน่ายโดย AP FARM
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

การเลี้ยงไก่สำหรับชน

นั้น มีหลายอย่างหลายชนิดแล้วแต่ครูบาอาจารย์ใดจะสั่งสอนมา แต่ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด ระยะการปล้ำและทำตัวไก่หนุ่ม ไก่หนุ่มที่จะเริ่มเลี้ยงครั้งแรก ต้องลงขมิ้นให้ทั่วทั้งตัวเสียก่อน เพื่อสะดวกในการอาบน้ำ และป้องกันไรได้ดีอีกด้วย

  1. เริ่มอาบน้ำเวลาเช้าทุกวัน ควรใช้ผ้าประคบหน้าทุกครั้งที่มีการอาบน้ำ ลงกระเบื้อง เนื้อตัวบาง ๆ แล้วลงขมิ้นตามเนื้อบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดด พอรู้ว่าหอบก็นำไก่เข้าร่ม อย่าให้กินน้ำจนกว่าจะหายหอบจึงจะให้กินน้ำได้ไก่ผอมไม่ควรผึ่งแดดให้มากเพราะจะทำให้ผอมมากไปอีก ถ้าอ้วนเกินไปต้องผึ่งแดดให้มากสักหน่อย เพราะจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ ควรคุมน้ำหนักทุกครั้งที่มีการซ้อม และการเลี้ยงทุกวันตอนเช้า
  2. อาบน้ำประมาณ 7 วัน แล้วจึงเริ่มซ้อมครั้งแรกสัก 2 ยก ๆ ละไม่เกิน 12 นาที ซ้อมสัก 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ซ้อมยกละ 15 นาที รวมแล้วให้ได้ 6 ยก ระยะการปล้ำแต่ละครั้งควรจะมีเวลาห่างกันประมาณ 10 -15 วันพอครบกำหนดแล้วต้องถ่ายยาตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

วิธีล่อ

เวลาประมาณบ่าย 2 โมงเย็น เอาน้ำเช็ดตัวไก่ที่เลี้ยงเล็กน้อย แล้วเอาไก่ที่เป็นไก่ล่อ จะเป็นการล่อทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่สะดวก แล้วล่อไก่ให้ย้าย คือเอาไก่ล่อ ๆ วนไปข้างซ้าย 10 รอบ เย้ายวนไปทางขวา 10 รอบ ย้ายจนกว่าไก่ตัวถูกล่อจะไม่ล้มจึงจะใช้ได้ แล้วล่อให้ไก่บินบ้าง ล่อประมาณ 20 - 25 นาทีก็พอ พอเสร็จจากการล่อเอาขนไก่ปั้นคอ พอหายเหนื่อยแล้วอาบน้ำได้ เสร็จแล้วผึ่งแดดให้ขนแห้งแล้วกินอาหารได้

การใช้ขมิ้น

ทุกครั้งเวลาอาบน้ำไก่ในตอนเช้า ต้องใช้กระเบื้องอุ่น ๆ ประคบหน้าพอสมควร ถ้ามากนักจะทำให้หน้าเปื่อย แล้วทาขมิ้นบาง ๆ ทุกครั้ง บางคนใช้ทาเฉพาะหน้าอก ขา ใต้ปีก ตามเนื้อเท่านั้น (ใช้ได้เหมือนกัน)

การปล่อยไก่

ไก่ที่เลี้ยงไว้ชนพอเวลาแดดอ่อนๆควรได้ปล่อยไก่ให้เดินตามสนามหญ้าแพรกนอกจากจะให้ไก่ได้เดินขยายตัวแล้ว ไก่ยังมีโอกาสได้กินหญ้าไปในตัวด้วย วิธีแก้ไขให้น้ำหนักตัวลด เวลาไก่ชนที่เลี้ยงอ้วนเกินไปน้ำหนักตัวจะมากบินไม่ขึ้น ควรผึ่งแดดให้หอบนาน ๆ หากไก่ผอมมากไปไม่ควรให้ถูกแดดมากเกินไป เวลานอนควรให้นอนบนกาบกล้วย หรือเอาน้ำเย็นเช็ดตัวบาง ๆ ก่อนนอน การนอนควรนอนในมุ้งทุกคืนเพื่อมิให้ยุงไปรบกวน ไก่จะได้นอนหลับสบาย การเลี้ยงไก่ถ่าย การเลี้ยงไก่ถ่าย หรือไก่ที่เปลี่ยนขนตั้งแต่หนึ่งครั้งขึ้นไป วิธีเลี้ยงเช่นเดียวกับไก่หนุ่ม ผิดกันตรงที่ไก่ถ่ายต้องปล้ำให้ได้ที่ คือปล้ำครั้งละ 2 ยก ยกละ 15 นาที จำนวน 5 ครั้ง รวม 10 ยก หรือปล้ำจนกว่าจะบินไม่ล้ม แล้วผึ่งแดดให้นานกว่าไก่หนุ่มหน่อย นอกนั้นเหมือนกันหมด

ยาถ่ายไก่

ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้

  1. เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
  2. มะขามเปียก 1 หยิบมือ
  3. ไพลประมาณ 5 แว่น
  4. บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
  5. น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
  6. ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน) ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง

ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน

น้ำสำหรับอาบไก่

ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้

  1. ไพลประมาณ 5 แว่น
  2. ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
  3. ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
  4. ใบมะกรูด 5 ใบ
  5. ใบมะนาว 5 ใบ

เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง

ยาบำรุงกำลังไก่

ยาบำรุงที่นิยมกันมากมีหลายขนาน แต่จะยกมาขนานเดียว คือ

  1. ปลาช่อนใหญ่ย่างไฟ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง 1 ตัว
  2. กระชายหัวแก่ ๆ ประมาณ 2 ขีด (แห้ง)
  3. กระเทียมแห้ง 1 ขีด
  4. พริกไทย 20 เม็ด
  5. บอระเพ็ดแห้ง 1 ขีด
  6. นกกระจอก 7 ตัว
  7. หัวแห้วหมู 1 ขีด
  8. ยาดำพอประมาณ

นกกระจอกนำไปย่างไฟแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปตำให้ป่น ปลาช่อนก็ตำให้ป่น แล้วนำทั้ง 8 อย่างมาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทราให้กินวันละ1 เม็ดก่อนนอนทุกวันจนกว่าไก่จะชน ยาบางตำราไม่เหมือนกันแต่ได้ผลดีทั้งนั้น แต่ไปแพ้กันตรงที่ไก่เก่งไม่เก่งเท่านั้น ไก่ที่นำไปชนทุกครั้งถ้าไม่ได้ชน กลับมาจะต้องฉะหน้าถอนแข้งทุกครั้ง ๆ ละ 5 นาที 1 ครั้ง ก่อนจะนำไปชนต่ออีก

วิธีให้น้ำไก่ขณะกำลังชน

การใช้น้ำไก่เป็นสิ่งจำเป็นในการชนไก่เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าท่านให้น้ำไก่ไม่เป็น เอาไก่ไปชนโอกาสแพ้มีมาก มือน้ำเท่านั้นเป็นผู้ชี้ชะตาไก่ของท่าน เพราะฉะนั้นท่านต้องเป็นคนให้น้ำไก่เก่งๆ จึงจะสู้เขาได้ วิธีให้น้ำไก่ก่อนชน ท่านต้องใช้ผ้ามุ้งบาง ๆ ชุบน้ำเช็ดตัวให้ทั่วตัวทุกเส้นขน แต่อย่างให้ปีกเปียก (เพราะปีกเป็นอุปกรณ์สำคัญในการต่อสู้) แล้วเช็ดให้แห้ง ให้กินข้าวสุก จนอิ่มแล้วปล่อยให้เดินเพื่อจะได้ขยายตัว และแต่งตัวเรียบร้อยแล้วนำไก่เข้าชน พอหมดยกที่ 1 เอาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าอก และใต้ปีกเสียก่อนจึงค่อยเช็ดตามตัวให้ทั่ว แล้วตรวจบาดแผลตามหัว ตามตัวว่ามีผิดปกติหรือเปล่า ตรวจดูตา ตรวจดูปากให้เรียบร้อย ถ้าปากฮ้อ ก็เตรียมผูก ถ้าตาหรี่ก็ควรเสนียดตา หรือถ่างตา เสร็จเรียบร้อยแล้วให้กินข้าวสุกที่บดไว้ ประมาณ 3 - 4 ก้อน แตงกวาแช่น้ำมะพร้าวอ่อน พอให้อิ่มแล้วเอาไก่นอน ๆ ประมาณ 5 นาที หลังจากนอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอากระเบื้องอุ่นมาเช็ดตามตัว ตามหน้าแข้ง ขาให้ทั่วบริเวณที่ถูกตี แล้วปล่อยให้เดิน และให้ไก่ถ่ายออกมาเพื่อจะได้ให้ตัวเบา (ยกต่อไปก็ทำเหมือนยกที่ 1 จนกว่าจะแพ้ ชนะกัน)

วิธีรักษาพยาบาลหลังจากไก่ชนแล้ว

ตามปกติไก่ที่ชนมาแล้วจะมีบาดแผลมากน้อยแล้วแต่กำหนดเวลาการต่อสู้ บางตัวก็ชนะเร็ว บางตัวก็ชนะช้าบาดแผลก็มีมาก เวลาชนเสร็จแล้วควรใช้เพนนิซิลิน อย่างเป็นหลอดทาตามหน้าให้ทั่ว เพื่อไม่ให้หน้าตึง อย่าใช้ขมิ้นเป็นอันขาด ถ้าบาดแผลมากจริงควรใช้ยาพวกสเตปโตมัยซิน หรือฉีดยาเทอรามัยซิน หรือจะให้กินยาเต็ดตร้าไซคลินก็ได้ วันละ 1 เม็ด ตอนเย็น ประการสำคัญ อย่าให้ทับตัวเมียเป็นอันขาด หลังจาก 1 เดือนไปแล้วให้ทับได้


วิธีการผสมพันธุ์ไก่

ไก่ที่จะใช้ผสมพันธุ์ ต้องคัดเลือกจากไก่ตัวผู้ และตัวเมียที่มีความสมบูรณ์ ปราศจากโรคขี้ขาว เป็นหน่อ มะเร็ง คอคอก หวัด เพราะถ้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นโรคแล้วอาจจะมาติดถึงลูกได้ เพื่อให้ได้ผลในการผสมพันธุ์ ควรใช้ตัวผู้ 1 ตัว ต่อ ตัวเมีย 5 ตัวและไม่ควรขังให้อยู่ในเล้าที่จำกัด ควรปล่อยให้อยู่ในที่กว้าง ๆ อาหารต้องสมบูรณ์อาหารที่ใช้คือ ข้าวเปลือก ปลาสด (ควรต้มเสียก่อน) หญ้าอ่อน ถ้าไม่มีหญ้าควรให้ผักสดกิน ถ้าทำเช่นนี้ได้จะได้ลูกไก่ที่สมบูรณ์ (ข้อสำคัญไก่ที่จะทำพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ควรนำไปให้ปศุสัตว์ตรวจโรคเสียก่อน)

การเตรียมรังสำหรับฟักไข่

ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น กีฬาชนไก่เป็นกีฬาโบราณ ดังนั้นเวลาผสมพันธุ์ หรือทำรังให้ไก่ฟักย่อมมีพิธีรีตองมากเป็นธรรมดา ถ้าทำลำบากมักจะให้ประโยชน์คุ้มค่าเสมอ ท่านต้องหาของที่โบราณเขาถือมาใส่รังไก่ให้ครบ ท่านก็จะได้ไก่ที่ฟักออกมาเก่ง ๆ ทุกตัว

ของที่ใช้ประกอบการฟักไข่มีดังนี้

  1. กระบุง การใช้กระบุงทำเป็นที่รองสำหรับฟักไข่ ก็เพราะว่ากระบุงเป็นภาชนะสำหรับ ใส่ของซื้อ ของขายได้ทีละมาก ๆ จึงเป็นมงคลด้วย
  2. มูลฝอยสำหรับรองรังไข่ ควรใช้ของดังนี้
    • ไม้ฟ้าผ่า (ทำให้ไก่ตีแรง จนให้คู่ต่อสู้ชักดิ้น)
    • คราบงูเห่า (ทำให้แข้งมีพิษ)
    • ทองคำ (ทำให้สีสวย)
    • ไม้คานหักคาบ่า (ทำให้มีลำหักลำโค่น)
    • หญ้าแพรก (เวลาชนทำให้ฟื้นง่ายเหมือนหญ้าแพรก)
  3. การคัดไข่ การเก็บไข่ไว้ฟักควรเลือกไข่ที่สมบูรณ์ไม่บูดเบี้ยว และน้ำหนักมาก ไม่น้อย กว่า 45 กรัม หรือใกล้เคียง ถ้าท่านทำได้ตามนี้ท่านจะได้ไก่เก่งประมาณ 80% การทำรังให้ไก่ฟักไม่ควรให้แดดส่อง หรือฝนสาดได้เพราะจะทำให้ไข่เสีย การฟักแต่ละครั้ง ไม่ควรฟักเกิน 10 หรือ 11 ใบ ถ้าฟักเกินแล้วจะทำให้ไข่เสียมาก ฟักประมาณ

วิธีเลือกไข่ขึ้นฟัก

การเลือกไข่ขึ้นฟัก ใช้สมุดปกอ่อนม้วนเป็นรูปกระบอกแล้ว นำไข่ที่ฟักไปประมาณ 15 วัน ใส่ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ส่องให้ตรงกับพระอาทิตย์ ถ้าไข่มีเชื้อจะมองเห็นเป็นสีดำสนิท แต่ถ้าไข่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นในไข่เป็นแสงสว่าง ไข่ไม่มีเชื้อควรคัดออกได้เลย ถ้าเก็บไว้มาก นอกจากจะทำให้แน่นกันแล้ว จะทำให้ไข่ดีเสียไปมากอีกด้วย

วิธีเลี้ยงลูกไก่

ตามปกติลูกไก่อ่อนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากมากเพราะจะมีโรคหลายชนิดแล้วยังจะมีสัตว์อื่นรบกวนอีกมากเช่น เหยี่ยว สุนัข งู แมว กา และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นท่านต้องระวังให้มาก หลังจากลูกไก่ออกแล้วให้นำลูกไก่มาขังไว้ในที่ ๆ สะอาด อย่าให้ลมโกรกมาก เวลานอนควรให้นอนในมุ้งอย่าให้ยุงกัดได้ เพราะจะทำให้เกิดโรคฝีดาษได้ อาหารสำหรับลูกไก่ ในระยะ 10 วันแรก ควรใช้ปลายข้าวกล้องอย่างละเอียด ผสมอาหารไก่อ่อนซึ่งมีขายตามร้านอาหารไก่ คลุกกับน้ำพอเปียกให้กิน ส่วนน้ำใช้ไวตามินผสมให้กินหลังจาก 10 วันไปแล้วใช้ข้าวกล้องเม็ดโตผสมอาหารไก่และน้ำเช่นเดิมให้กินพออิ่มแล้ว ใช้ปลาทะเลหรือปลาน้ำจืดต้มให้สุกปั้นเป็นลูกกลอนเล็ก ๆ ให้กิน หรือผสมกับอาหารไก่ให้กินหลังอาหารแล้ว พออายุประมาณ 1 เดือน เริ่มให้กินข้าวเปลือกเม็ดเล็กได้แล้ว หลังจากกินข้าวเปลือกอิ่มแล้ว ควรให้กินปลาตัวละประมาณเท่าหัวแม่มือทุกวัน ลูกไก่ที่ท่านเลี้ยงจะโตเร็วกว่าปกติ โรคสำหรับไก่ชนเราส่วนมากจะมีโรคร้ายแรงอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหวัด โรคบิด ไก่ที่เป็นโรคชนิดนี้ส่วนมากกระเพาะอาหารไม่ย่อย หงอยซึมอยู่ตลอดเวลา ควรใช้ยาซัลฟาควินน็อกซาลิน ผสมน้ำตามส่วนให้กิน หรือใช้หยอดก็ได้ติดต่อกัน 3 วัน แล้วเว้น 1 วันจนกว่าจะหาย การเลี้ยงลูกไก่ หลังจากออกจากไข่แล้วประมาณ 10 วัน ควรให้อยู่กับแม่ก่อน สถานที่เลี้ยงไม่ควรให้แฉะ ควรเป็นที่ร่มมีแดดรำไรและที่สำคัญที่สุดต้องมีหญ้า เพราะหญ้าจะเพิ่มวิตามินซีให้กับไก่

อาหารไก่พื้นบ้าน

ปกติแล้วการเลี้ยงไก่พื้นบ้านมักจะปล่อยให้ไก่หาอาหารกินเองตามมีตามเกิด หรือตามธรรมชาติ โดยที่ผู้เลี้ยงอาจมีการให้อาหารเพิ่มเติมบ้างในช่วงตอนเช้า หรือตอนเย็นอาหารที่ให้ก็เป็นพวกข้าวเปลือก ปลายข้าว หรือข้าวโพด เป็นต้น จากสภาพการเลี้ยงดูแบบนี้ทำให้ความสมบูรณ์ของไก่ผันแปรไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ คือ ในช่วงฤดูฝน ไก่จะมีอาหารค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากได้รับทั้งเมล็ดวัชพืชและหนอนแมลงในปริมาณมาก ซึ่งอาหารทั้งสองชนิดนี้เป็นแหล่งของไวตามินและโปรตีนที่สำคัญ ตามธรรมชาติ ทำให้ไก่ในฤดูกาลนี้มีการเจริญเติบโตและความแข็งแรงมากกว่าไก่ในฤดูอื่น ๆ ส่วนในฤดูเก็บเกี่ยว และนวดข้าว ไก่ก็มีโอกาสที่จะได้รับเศษอาหารที่ตกหล่นมาก ทำให้ไก่มีสภาพร่างกายอ้วนท้วนสมบูณ์พอสมควร ส่วนในฤดูแล้งมักจะประสพปัญหาไก่ขาดแคลนอาหารตามธรรมชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องน้ำซึ่งมักจะขาดอยู่เสมอ จำเป็นต้องเตรียมไว้ให้ไก่ด้วย หลักในการให้อาหารไก่พื้นบ้านมีดังต่อไปนี้

  1. ควรซื้อหัวอาหารเพื่อเอามาผสมกับอาหารที่ผู้เลี้ยงมีอยู่เช่น ผสมกับปลายข้าว หรือรำเป็นต้น อาหารผสมนี้ใช้เลี้ยงไก่โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่เล็ก จะทำให้ไก่ที่เลี้ยงโตเร็วและแข็งแรง
  2. การใช้เศษอาหารมาเลี้ยงไก่ควรคำนึงถึงความสะอาดและสิ่งแปลกปลอมที่เป็นพิษต่อไก่ด้วย
  3. ถ้าเป็นไปได้ควรเสริมเปลือกหอยป่นในอาหารที่ให้ไก่กินจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเปลือกไข่บางและปัญหาการจิกกินไข่ของแม่ไก่
  4. ควรนำหญ้าขนหรือพืชตระกูลถั่วบางชนิดเช่น ถั่วฮามาต้า ใบกระถิน หรือเศษใบพืชต่าง ๆ เช่น ใบปอ ใบมัน เป็นต้น นำมาสับให้ไก่กินจะทำให้ไก่ได้รับไวตามินและโปรตีนเพิ่มมากขึ้น
  5. การใช้แสงไฟล่อแมลงในตอนกลางคืน นำแมลงนั้นมาเป็นอาหารไก่จะทำให้ไก่ได้อาหารโปรตีนอีกทางหนึ่งนอกจากนี้ยังเป็นการช่วยทำลายแมลงศัตรูพืชอีกด้วย
  6. ควรมีภาชนะสำหรับใส่อาหารและน้ำโดยเฉพาะ โดยทำจากวัสดุต่าง ๆ ที่หาได้ เช่นยางรถยนต์ หรือไม้ไผ่ ภาชนะสำหรับให้น้ำและอาหารควรวางให้สูงระดับเดียวกับหลังของตัวไก่และใส่อาหารเพียง 1 ใน 3 ก็พอเพื่อให้หกเรี่ยราด สำหรับน้ำนั้นควรใช้น้ำที่สะอาดให้ไก่ดื่มกินตลอดเวลา ส่วนอาหารอาจจะให้เฉพาะตอนเช้า และเย็นเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นให้ไก่หาอาหารกินเอง
  7. สำหรับอาหารลูกไก่ ควรเป็นอาหารที่ละเอียด ย่อยง่าย และให้ทีละน้อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการย่อยอาหารของลูกไก่ต้องทำงานหนักเกินไป
  8. ในช่วงการให้ไข่และฟักไข่ของแม่ไก่ ควรมีอาหารเสริมเป็นพิเศษสำหรับแม่ไก่ซึ่งจะช่วยให้แม่ไก่แข็งแรงไม่ทรุดโทรมเร็ว และไม่ต้องไปหากินไกล ๆ
  9. ในระยะการกกลูกไก่ในคอกนั้น จำเป็นต้องซื้ออาหารสูตรผสม (อาหารไก่เล็ก) ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมาให้ลูกไก่กิน การให้อาหารพวกปลายข้าว
  10. ข้าวเปลือกหรือรำ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้รวมกันจะไม่ได้ผล เพราะจะทำให้ลูกไก่แคระแกรน ไม่แข็งแรง และตายในที่สุด
  11. ดังนั้นจึงควรหาซื้ออาหารสูตรผสมที่มีโปรตีนเมื่อพ้นระยะการกกแล้วใน
  12. ช่วงเวลากลางวันก็สามารถปล่อยให้ไก่ออกหาอาหารตามธรรมชาติบ้าง ในช่วงก่อนค่ำก็ไล่ไก่เข้าคอกและควรให้อาหารสูตรสำเร็จเสริมให้ไก่ หรือจะให้เศษอาหารที่เหลือ หรือพวกปลายข้าว รำข้าว ก็ได้
  13. ในกรณีที่เลี้ยงไก่จำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือแหล่งอาหารตามธรรมชาติว่ามีเพียงพอต่อจำนวนไก่หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็ควรซื้ออาหารสูตรผสมให้กินเสริมด้วย มิเช่นนั้นจะพบว่าไก่ที่เลี้ยงจะผอม ไม่แข้งแรง และมักแสดงอาหารป่วยจนถึงตายในที่สุด

นอกจากการใช้สูตรอาหารสำเร็จมาใช้เลี้ยงไก่แล้ว ยังมีอาหารอีกรูปแบบหนึ่งที่มีจำหน่ายอยู่ในรูปเข้มข้น หรือเรียกกันว่าหัวอาหาร ซึ่งสามารถซื้อนำมาผสมกับวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด หรือมันสำปะหลังตากแห้ง เป็นต้น การผสมมักจะคำนึงถึงสูตรอาหารที่จะใช้ว่าจะเลี้ยงในระยะลูกไก่หรือไก่รุ่น เมื่อทราบอายุไก่ที่เลี้ยงแล้วก็นำหัวอาหาร และวัตถุดิบที่มีอยู่มาผสมกันตามสัดส่วนที่คำนวณไว้ดังตัวอย่างเช่น ถ้าหัวอาหารประกอบด้วยโปรตีน 42 เปอร์เซ็นต์ จะนำมาผสมกับปลายข้าวที่ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำเป็นสูตรอาหารให้ได้โปรตีน 19 เปอร์เซ็นต์

เพื่อใช้เลี้ยงลูกไก่ การผสมแบบนี้สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ ดังนี้

ขั้นตอนการคำนวณ คือ

  1. หาความแตกต่างระหว่างเปอร์เซ็นต์โปรตีนของหัวอาหารกับเปอร์เซ็นต์โปรตีนของสูตรอาหารที่ต้อง การผสมในกรณีนี้คือ 42-19 ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 23
  2. หาความแตกต่างระหว่างเปอร์เซ็นต์โปรตีนของปลายข้าวกับเปอร์เซ็นต์โปรตีนของสูตรอาหารที่ต้องการผสม คือ 19-8 ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 11
  3. จากข้อ 1 และข้อ 2

    สรุปผลได้ดังนี้คือ ถ้าเรานำหัวอาหาร จำนวน 11 ส่วน มาผสมกับปลายข้าว จำนวน 23 ส่วน เราก็สามารถผสมสูตรอาหารไก่ที่ประกอบด้วยโปรตีน ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ได้

อาหารไก่พื้นบ้าน 2

ก่อนอื่นเกษตรกรต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ไก่ต้องการอาหารเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หายใจ เดิน วิ่ง และการกินอาหาร ใช้ในการสร้างกระดูก เนื้อ หนัง ขน เล็บ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ใช้ในการสร้างไข่ และผลิตลูกไก่ ดังนั้น การที่ไก่จะเจริญเติบโตดี มีความแข็งแรง และให้ไข่มาก ไก่ จะต้องได้กินอาหารเพียงพอ และได้กินอาหารดี โดยสม่ำเสมอทุกวัน ไก่ต้องการอาหารประเภทใดบ้าง ความต้องการอาหารของไก่คล้ายกับคนมาก ไก่ต้องการอาหารทั้งหมด 6 อย่าง คือ

  1. อาหารประเภทแป้ง เพื่อนำไปสร้างกำลัง ใช้ในการเดิน การวิ่ง อาหารประเภทนี้ได้จากรำ ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวเปลือก กากมันสำปะหลัง
  2. อาหารประเภทเนื้อ เพื่อนำไปสร้างขน เล็บ เลือด เนื้อหนัง อาหารประเภทนี้ได้จากแมลง ไส้เดือน ปลา ปลาป่น
  3. อาหารประเภทไขมัน นำไปสร้างความร้อนให้ร่างกาย อบอุ่นได้จากกากถั่ว กากมะพร้าว ไขสัตว์ น้ำมันหมู กากงา
  4. อาหารประเภทแร่ธาตุ ไก่ต้องการอาหารแร่ธาตุไปสร้างกระดูก เลือด และเปลือกไข่ แร่ธาตุต่าง ๆ ได้จากเปลือกหอยป่น กระดูกป่น
  5. อาหารประเภทไวตามิน สร้างความแข็งแรง และกระปรี้กระเปร่าแก่ร่างกาย สร้างความต้านทานโรค และ บำรุงระบบประสาท มีในหญ้าสด ใบกระถิน ข้าวโพด รำข้าว ปลาป่น
  6. น้ำ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อร่างกาย ถ้าขาดน้ำไก่จะตายภายใน 24 ชั่วโมง ต้องมีน้ำให้ไก่กินตลอดเวลา การปล่อยให้ไก่หาอาหารเองตามธรรมชาติจนเคยชิน ทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าไก่กินรำและปลายข้าวและอาหารตามธรรมชาติก็ เป็นการเพียงพอแล้วแต่การที่จะเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดีนั้นเกษตรกร

จะต้องให้การเอาใจใส่เรื่องอาหารและน้ำให้มากขึ้นโดยวิธีการง่ายๆ ดังนี้

  1. ให้น้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และคอยเปลี่ยนน้ำทุกๆ วัน
  2. ให้อาหารผสมทุกเช้าเย็นเพิ่มเติมจากอาหารที่ไก่หากินได้ตามปกติ
  3. ให้อาหารไก่หลาย ๆ ชนิดผสมกัน เช่น ปลายข้าว รำข้าว ข้าวโพดป่น ปลาป่น ข้าวเปลือก กากถั่ว กากมะพร้าว หัวอาหารไก่สำเร็จรูปชนิดเม็ดหรือชนิดผง
  4. มีเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่นตั้งทิ้งไว้ให้ไก่กินตลอดเวลา
  5. ให้หญ้าสด ใบกระถิน หรือผักสดให้ไก่กินทุกวัน
  6. ในฤดูแล้ง ไก่มักจะขาดหญ้ากินเกษตรกรควรปลูกกระถินไว้บริเวณใกล้ๆ คอก วิธีปลูกนั้นให้นำเมล็ดกระถินมาลวกด้วยน้ำร้อนนาน 2 ถึง 3 นาที แล้วนำไปแช่น้ำเย็น เสร็จแล้วจึงนำไปเพาะในดินใส่ถุงพลาสติก จนกระทั่งต้นกระถินสูงประมาณ 1 เมตร
  7. จึงย้ายไปปลูกเป็นแถวหรือแนวรั้ว เมื่อต้นกระถินติดดีแล้ว ควรตัดให้ต้นต่ำ ๆ เพื่อไก่จะได้กินถึงหรือจะคอยตัดให้ไก่กินก็ได้ นอกจากนั้นเราอาจเพาะข้าวเปลือกหรือถั่วเขียวให้ไก่กินก็ได้ การเพาะถั่วเขียวให้เอาเมล็ดถั่วเขียวแช่เย็นไว้ 12 ชั่วโมง ล้างใส่ไหคว่ำไว้หมั่นรดน้ำทุก 2-3 ชั่วโมง พอครบ 3 วันก็เอาออกให้ไก่กินได้ ถั่วเขียว 4 กระป๋องนมให้แม่ไก่กินได้ประมาณ 100 ตัว
  8. การใช้หัวอาหารไก่สำเร็จรูปผสมลงในรำข้าวหรือปลายข้าวเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด เนื่องจากเกษตรกรสามารถหาซื้อได้ง่ายและผสมได้สะดวกเป็นวิธีที่จะเสริมให้ไก่เจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น
  9. การสังเกตว่าไก่ได้อาหารเพียงพอหรือไม่ให้ดูว่าในระยะแรกที่ให้อาหารไก่จะรีบกินและมีการแย่งกัน ถ้าไก่กินอาหารไปเรื่อย ๆ และเลิกแย่งกันกินอาหารช้าลง มีการคุ้ยเขี่ย แสดงว่าไก่ได้กินอาหารเพียงพอแล้ว

ข้อมูลจาก กรมปศุสัตว์

โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)

โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) เป็น โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Avian Influenza virus type A ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม โดยมี surface antigens ที่สำคัญ ได้แก่ haemagglutinin (H) มี ๑๕ ชนิด และ neuraminidase (N) มี ๙ ชนิด เชื้อไวรัส Influenza แบ่งเป็น ๓ type ได้แก่


Type A แบ่งย่อยเป็น ๑๕ subtype ตามความแตกต่างของ H และ N antigen พบได้ในคนและสัตว์ต่างๆ เช่น สุกร ม้า และสัตว์ปีกทุกชนิด

Type B ไม่มี subtype พบเฉพาะในคน

Type C ไม่มี subtype พบเฉพาะในคนและสุกร

อาการ

โรคไข้หวัดนก อาการที่แสดงนั้นมีความผันแปรตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส และสัตว์ที่ได้รับเชื้อ สัตว์อาจจะไม่แสดงอาการป่วย แต่จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น (Seroconverion) ภายใน 10-14 วัน จึงสามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรค สัตว์อาจจะแสดงอาการดังนี้

กินอาหารลดลง ปริมาณไข่ลดในไก่ไข่ นอกจากนี้อาจจะมีอาการ ไอ จาม ขนร่วง มีไข้ หน้าบวม ซึม ท้องเสีย ในรายที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงอาจตายกระทันหัน ซึ่งมีอัตราตายสูง ๑๐๐%

ไวรัสชนิดนี้จะไม่ทำให้เป็ดป่วย แต่อาจทำให้สัตว์ปีกชนิดอื่นๆ ป่วยได้ เช่น ไก่งวง

แหล่งของไวรัส

สัตว์ปีกทุกชนิดมีความไวต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สามารถที่จะแยกเชื้อได้จากนกน้ำ รวมทั้ง นกชายทะเล นกนางนวล ห่าน และนกป่า เป็ดป่าสามารถที่จะนำเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยที่จะไม่แสดงอาการป่วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญในสัตว์ปีก

ความเสี่ยงของการระบาดโรคไข้หวัดนกจากนกน้ำ โรคไข้หวัดนกมีการระบาดในนกป่าและเป็ด นกน้ำเป็นแหล่งของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ไก่งวงยังเป็นแหล่งกักโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกได้ ความเสี่ยงของไก่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่มีโอกาสสัมผัสกับนกน้ำเป็นความเสี่ยงสูง แต่ยังไม่ทราบว่าปัจจัยใดที่ส่งผลให้การระบาดไม่แน่นอนในแต่ละพื้นที่นั้น

วิธีติดต่อของโรค

  1. การติดต่อของโรคจากการสัมผัสกับอุจจาระ เป็นวิธีติดต่อที่สำคัญระหว่างนกด้วยกัน นกป่าจะ เป็นตัวนำเชื้อไวรัสไข้หวัดนกไปยังนกในโรงเรือนที่เปิดได้ โดยผ่านทางการปนเปื้อนของอุจจาระ
  2. การติดเชื้อโดยทางการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค (Mechanical Transmission) มูลของนกเป็นแหล่งของเชื้อไวรัสที่สำคัญ การขับเชื้อไวรัสทางมูลเป็นเวลา ๗๑๔ วัน หลังการติดเชื้อ แต่ไม่พบเชื้อไวรัสในสิ่งปูรองได้ในระยะเวลานานถึง ๔ สัปดาห์หลังการติดเชื้อ ไวรัสสามารถจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง ๑๐๕ วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง ดังนั้น วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ คน และสัตว์ เช่น นกป่า หนู แมลง นกกระจอก จึงเป็นปัจจัยในการกระจายของโรคได้
  3. การติดเชื้อจากการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งของตัวป่วย ก็เป็นได้
  4. ไวรัสไข้หวัดนกสามารถพบในเปลือกไข่ชั้นในและชั้นนอก อย่างไรก็ตาม การติดต่อจากแม่ไก่ผ่านมายังลูกไก่ทางไข่ (Vertical transmission) ยังไม่มีการรายงาน ส่วนการติดโรคผ่านไข่ไปยังฟาร์มอื่นนั้นมักเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อที่เปลือกไข่ หรือถาดไข่ และจัดเป็นการติดต่อที่สำคัญวิธีหนึ่ง
  5. ?

กรณีของโรคไก่ชนไม่สบาย มีอาการท้องเสีย ขี้เขียว ขี้ขาว ท้องไส้อักเสบ ให้เอาผงกล้วยผสมกับน้ำอุ่นๆ พอเย็นนำไปหยอดให้ไก่กิน หรือวางไว้บริเวณที่อยู่อาศัยของไก่ ให้ไก่ได้รับประทานยากล้วยบดนั้น ไม่ช้าอาการที่ไม่สบายก็จะบรรเทา หายไปเอง ผลกล้วยน้ำว้าทั้งสุกและดิบ ถ้าใช้ถูกวิธีมีคุณอนันต์

การติดต่อโรค จากสัตว์ปีกมาสู่คน

การติดต่อโรคนี้จากสัตว์ปีกมาสู่คน เป็นไปได้ยาก จากข้อมูลการเกิดโรคในคนที่ประเทศฮ่องกง และประเทศอื่นๆ พบว่าเป็นการติดต่อโดยตรงจากตัวสัตว์ปีกมีชีวิต ไม่มีรายงานการติดต่อมายังคน โดยการบริโภคเนื้อไก่ และ ไข่ มาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของโรค โรคไข้หวัดนก ในฟาร์มที่มีโรคระบาด ประกอบด้วย ๓ หลักการที่สำคัญ คือ

  1. การป้องกันการกระจายของเชื้อ
    1. ไม่ให้มีการนำสัตว์ปีกเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีการระบาดของโรคภายหลังจากการกำจัดสัตว์ป่วย ในระยะเวลา ๒๑ วัน
    2. กำจัดวัชพืชรอบโรงเรือน และกำจัดสิ่งปูรองตลอดจนอาหารของสัตว์ป่วยนั้น
    3. มีโปรแกรมควบคุมพาหะของโรค เข่น แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หนู และนก เนื่องจากสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวนำพาเชื้อโรคจากอุจจาระของสัตว์ป่วยไปยังที่ต่างๆได้
    4. ป้องกันการสะสมของแหล่งน้ำภายในฟาร์ม ซึ่งเพิ่มปริมาณของนกที่เคลื่อนย้ายเข้ามา และมีโอกาสเป็นสื่อให้การแพร่กระจายของโรคขยายวงออกไป
    5. จำกัดแหล่งอาหารซึ่งเป็นปัจจัยให้นกเคลื่อนย้ายมาอาศัย
    6. ให้ความรู้พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังที่ต่างๆ
  2. การควบคุมการเคลื่อนย้าย
    1. จัดระบบควบคุมการเข้า-ออกฟาร์มของบุคคลภายนอกและบุคคลภายในฟาร์ม
    2. ลดการเคลื่อนย้ายระหว่างภายในฟาร์มและภายนอกฟาร์ม โดยใช้ระบบสื่อสารทางโทรศัพท์และโทรสาร
    3. ให้ใช้มาตรการทำลายเชื้อโรคคนที่เข้า-ออกฟาร์ม
    4. ไม่อนุญาตให้พนักงานขับรถยนต์ พนักงานขนส่งเข้า-ออกฟาร์มโดยที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
  3. การรักษาสุขอนามัย
    1. ใช้ยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค และควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนอุจจาระไปกับรถหรือยานพาหนะ
    2. ล้างวัสดุ อุปกรณ์และยานพาหนะด้วยผงซักฟอก และยาฆ่าเชื้อ

    ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการควบคุมและลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสคือ

    1. Formaldehyde
    2. Iodine compound
    3. Quaternary ammonium compound
    4. สารที่เป็นกรด
    5. ความร้อน ๙๐ °C เวลา ๓ ชั่วโมง หรือ ๑๐๐ °C เวลา ๓๐ นาที
    6. ความแห้ง

มาตรการสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาด โรงฆ่าสัตว์ปีก ผู้รับซื้อสัตว์ปีกซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดโรคนั้นควรปฏิบัติดังนี้

มาตรการสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง

  1. ควบคุมการเข้า - ออก ของคน สัตว์ ไม่ให้ยานพาหนะและคน โดยเฉพาะรถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ รถรับซื้อขี้ไก่ รวมถึงคนรับซื้อไก่ ไข่ หรือ ขี้ไก่เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้าน
  2. งดซื้อไก่จากพื้นที่อื่นๆเข้ามาเลี้ยง
  3. รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อ ป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม
  4. ไม่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเช่นแม่น้ำลำคลอง เลี้ยงไก่ หากจำเป็นให้ผสมยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน
  5. หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า ๕ เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ด้วย แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  6. ก่อนเข้าไปในฟาร์ม สัมผัสสัตว์ป่วย ซากสัตว์ที่ตาย หรือทำลายสัตว์ ควรสวมผ้าพลาสติกกันเปื้อน ผ้าปิดปาก จมูก ถุงมือ หมวก หลังเสร็จงานรีบอาบน้ำด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว พลาสติก หรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือต้องถอดทิ้ง หรือนำไปซักหรือล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้อีก
  7. ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดโดยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณฟาร์ม กรง เล้า พื้นคอก และรอบๆ เช้า เย็น ทุกวัน

มาตรการสำหรับฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่

  1. ห้ามนำยานพาหนะต่างๆ โดยเฉพาะรถส่งอาหารไก่ รถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ หรือ รถรับซื้อขี้ไก่ เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้านโดยไม่จำเป็น หากต้องเข้าฟาร์มต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโรคฉีดพ่นยานพาหนะทุกครั้งก่อนเข้า และออกจากฟาร์ม
  2. ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนคนที่เข้า-ออกฟาร์ม โดย
    • ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยไม่จำเป็น
    • บุคคลที่ต้องเข้า-ออกฟาร์ม ต้องจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม และให้เปลี่ยนรองเท้า ของฟาร์มที่เตรียมไว้
    • ไม่ควรเข้าไปในฟาร์มอื่นเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากฟาร์มอื่นเข้มาในฟาร์ม
  3. รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม
  4. ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนไข่ และถาดไข่ในฟาร์มไข่ไก่โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ไข่และถาดไข่ทุกครั้งที่นำเข้าฟาร์ม
  5. หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อรับซื้อไก่ที่เหลือในฟาร์มและปฏิบัติตามคำแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อมาสู่สัตว์อื่น ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ที่ตายลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า ๕ เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

ผู้รับซื้อสัตว์ปีก

  1. ต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ตัวรถ ล้อรถ และกรงใส่สัตว์ปีกให้ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม หลังจากนำสัตว์ปีกส่งโรงฆ่าแล้ว
  2. เมื่อซื้อสัตว์ปีกที่ใดแล้ว ไม่ควรแวะซื้อที่อื่นอีก หากจำเป็นไม่ควรควรนำยานพาหนะเข้าไปในฟาร์ม และต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่เสื้อผ้า รองเท้าและตัวคนจับสัตว์ปีก
  3. อย่าซื้อสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือสัตว์ปีกจากฟาร์มที่มีสัตว์ปีกตายมากผิดปกติ

ผู้รับซื้อสัตว์ปีก

  1. ต้องงดซื้อสัตว์ปีกป่วยเข้าฆ่า
  2. ถ้ามีสัตว์ปีกตายให้ทำลายด้วยการฝัง เผา ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่บริเวณโรงฆ่า ทุกซอกทุกมุมหลังเสร็จสิ้นการฆ่าสัตว์ปีกทุกครั้ง
  3. หากพบสัตว์ปีกหรือเครื่องในมีความผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร็ว

วิธีการทำลายเชื้อ

สิ่งที่ต้องทำลายเชื้อ วิธีการทำลายเชื้อ

  1. ยานพาหนะ
    1. ใช้น้ำฉีดแรงดันสูงเพื่อทำความสะอาดยานพาหนะ
    2. พ่นยาฆ่าเชื้อบนรถและล้อรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มฟอร์มาลดีไฮด์ กลุ่ม กลูตาราลดีไฮด์ กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอล หรือสารประกอบคลอรีน
  2. วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเรือน แช่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มคลอรีน กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอลหรือกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์
  3. โรงเรือน ฉีดพ่นบริเวณโรงเรือนและรอบโรงเรือนทุกวัน เช้า-เย็น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับที่ใช้ฉีดพ่นยานพาหนะ
  4. ถาดไข่
    1. แช่ถาดไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มน้ำสบู่เช้มข้น ผงซักฟอก สารประกอบคลอรีน สารประกอบควอเตอร์นารีแอมโมเนียมหรือสารประกอบฟีนอล เป็นระยะเวลานาน 10-30 นาที หรือ
    2. รมควันถาดไข่ในห้องแบบปิด หรือใช้ผ้าพลาสติกคลุม โดยใช้ฟอร์มาลีน 40 % ผสมกับด่างทับทิม ในอัตราส่วนฟอร์มาลีน 50 มล. ต่อ ด่างทับทิม 10 กรัม ในพื้นที่ขนาด 2 x 2 x 2 เมตร เป็นระยะเวลา 24 ชม.
  5. ไข่
    1. จุ่มไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มไฮโปคลอไรท์ หรือสารประกอบฟีนอล
    2. รมควันโดยใช้วิธีเดียวกับถาดไข่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. ๐๒-๖๕๓๔๔๔๔ ต่อ ๔๑๔๑ หรือ ๔๑๑๕


มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการทั่วไปสำหรับการควบคุมป้องกันโรคในสัตว์ปีก ที่เคยได้แนะนำเกษตรกรเมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคมาแล้ว และต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้นในกรณีเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. ๐๒-๖๕๓๔๔๔๔ ต่อ ๔๑๔๑ หรือ ๔๑๑๕

  1. หากพบว่าสัตว์ปีกเช่นไก่ เป็ด หรือนกที่เลี้ยงไว้ในบ้าน ป่วยตายอย่างรวดเร็วหรือ ผิดปกติมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป หรือมีนกตกลงมาตายในบริเวณบ้านหรือใกล้บ้านที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก ควรเก็บตัวอย่างซากสัตว์ที่ตายส่งตรวจหาสาเหตุการตาย โดยใส่ถุง พลาสติก 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น เก็บใส่ภาชนะแช่น้ำแข็งส่งห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคของกรมปศุสัตว์ที่อยู่ใกล้ที่สุด
  2. หากไม่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกอื่น ๆ ให้ทำการทำลายซากสัตว์ปีกดังกล่าว โดยการเผา หรือฝังในบริเวณที่พบสัตว์ตาย โดยขุดหลุมลึกพอประมาณที่สัตว์จะไม่สามารถคุ้ยซากขึ้นมาได้ ใส่ซาก สัตว์ปีกลงไป แล้วราดทับด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำคลอรีน หรือ ปูนขาว แล้วฝังกลบทับให้แน่น อาจใช้วัตถุหนักทับเพื่อความมั่นใจ
  3. ก่อนหยิบจับซากสัตว์ทุกครั้ง ต้องสวมผ้าปิดปาก จมูก สวมถุงมือ หรือใส่ถุงพลาสติก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับซากสัตว์โดยตรง เมื่อฝังเสร็จให้ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด
  4. หลังการเก็บซากสัตว์แล้ว ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น จอบ เสียมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือทำลายถุงมือ ผ้าปิดปาก จมูก ทิ้งโดยเผา หรือฝัง

สามารถส่งซากสัตว์วินิจฉัยโรคได้ที่

  1. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม. โทร 0-2589-7908-11
  2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก (ชลบุรี) ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง ชลบุรี
  3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สุรินทร์)
  4. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ขอนแก่น) ต.ท่าพระ อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น
  5. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) อ.เมือง พิษณุโลก
  6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาค เหนือตอนบน (ห้างฉัตร) อ.ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
  7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาค ตะวันตก (ราชบุรี) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี
  8. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ (ทุ่งสง) อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  9. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ 02-6534444 ต่อ 4141 หรือ 4115


ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์

โรคไก่และการป้องกัน

โรคระบาดไก่

ในการเลี้ยงไก่ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องเลี้ยงไก่ให้มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง จึงจะให้ผลผลิตสูง ดังนั้นเราต้องรู้จักโรคและการป้องกันโดยถือหลักว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" โดยทั่วไปแล้วโรคที่มักจะทำความเสียหายให้กับการเลี้ยงไก่ ได้แก่

  • โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ะระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการหายใจเอาเชื้อ หรือกินน้ำ อาหารที่มีเชื้อปนเข้าไป จากอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย และสิ่งขับถ่ายอื่นๆ ของไก่ป่วย ไก่ที่ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจและระบบประสาท เช่น หายใจลำบาก มีเสียงดังเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล หัวสั่น กระตุก ขาและปีกเป็นอัมพาต คอบิด เดินเป็นวงกลม หัวซุกใต้ปีก สำหรับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลดลงทันที่ และมักจะตายภายใน 3-4 วัน หลังจากแสดงอาการป่วย

    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนลาโซตาเชื้อเป็น และลาโซตาเชื้อตาย ดูวิธีการใช้จากตารางการทำวัคซีนท้ายเล่ม
  • โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะมีความรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูงมาก ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ อ้าปากและโก่งคอเวลาหายใจ หายใจลำบาก เวลาหายใจมีเสียงครืดคราดในลำคอ ไอ น้ำมูกไหล ตาแฉะ เซื่องซึม เบื่ออาหาร ในไก่จะไข่ลดลงอย่างกะทันหัน

    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ

  • โรคอหิวาต์ไก่ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรง ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น

    การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะ คลอเตตร้าซัยคลิน หรือออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน

    การป้องกัน โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์

  • โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่มักเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น อยู่รวมฝูงกัน และยุงเป็นพาหะของโรคกัด โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนัง และเมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายในที่สุด

    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่

  • โรคหวัดติดต่อหรือหวัดหน้าบวม เป็นโรคทางเดินหายใจมักเกิดกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำตาของไก่ป่วย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการจาม มีน้ำตา น้ำมูกอยู่ในช่องจมูกและเปียกเปรอะถึงปาก และมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นรุนแรง ตาจะแฉะจนปิด หน้าบวม เหนียงบวม ไก่กินอาหารน้อยลง ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลด

    การรักษา โดยใช้ยาพวกซัลฟา ได้แก่ ซัลฟาไธอาโซล ซัลฟาไดเมท๊อกซิน ส่วนยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อิริโธมัยซิน และสเตรปโตมัยซิน

    การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดี การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนที่ดี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัดหน้าบวม

  • โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ

    เป็นโรคทางเดินหายใจ มักเป็นกับไก่ใหญ่ อายุ 3-4 เดือนขึ้นไป ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหายใจไม่สะดวก ยื่นคอและศีรษะตรงไปข้างหน้า อ้าปากเป็นระยะๆ และหลับตา ไก่จะตายเพราะหายใจไม่ออก

    การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาลที่ดี และป้องกันไม่ให้ลมโกรก และการให้วัคซีนป้องกันโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ

  • โรคมาเร็กซ์ เป็นโรคที่มักเป็นกับไก่รุ่น ไก่สาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่สะสมอยู่ที่หนังไก่บริเวณโคนขนของไก่ป่วยเป็นแผ่นเล็กๆ คล้ายขี้รังแค ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหงอยซึม การเจริญเติบโตไม่ได้ขนาด ในกรณีที่เป็นอัมพาต ไก่จะอ่อนเพลีย กินน้ำกินอาหารไม่ได้ การทรงตัวไม่ปกติ เดินขาลาก แล้วเป็นอัมพาตเดินไม่ได้

    การป้องกัน การสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดีไม่ให้ไก่เครียด และการให้วัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์

    1. หยอดหรือฉีดวัคซีน หรือแทงปีก เป็นประจำตามโปรแกรมการให้วัคซีน
    2. คอก เล้า หรือโรงเรือนเลี้ยงไก่ ตั้งอยู่บริเวณที่ดี มีลักษณะและขนาดเหมาะสมกับจำนวนไก่ สามารถป้องกันสัตว์พาหะนำโรค เช่น นกกระจอก นกพิราบ อีกา สัตว์ปีกชนิดอื่นๆ หนู สุนัข แมว และสัตว์ชนิดอื่นๆ
    3. ให้น้ำสะอาด โดยเปลี่ยนน้ำให้ไก่กินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร และภาชนะใส่อาหารเสมอๆ
    4. ทำความสะอาดคอก เล้า หรือโรงเรือนเป็นประจำ รวมทั้งบริเวณล้อมรอบ อย่าให้มีแอ่งน้ำสกปรก ต้องมีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับจุ่มเท้าก่อนเข้า
    5. ป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก เช่น ไม่นำไก่จากแหล่งที่เป็นโรค หรือสงสัยว่าเป็นโรค หรือไม่ทราบแหล่ง เข้ามาในฟาร์มและรวมในฝูงทันที
    6. ถ้าจะนำไก่จากแหล่งภายนอกมาเลี้ยง ต้องขังไก่แยกกักกันโรคไว้อย่างน้อย 15 วัน เพื่อดูอาการให้แน่ใจก่อนว่าไก่ไม่เป็นโรคแน่นอนจึงนำเข้ามาเลี้ยงรวมฝูงได้
    7. ไก่ป่วยต้องแยกออกจากฝูงแล้วทำการรักษาโรคทันที ถ้ารักษาไม่ได้ผลต้องคัดออกทิ้งและทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่โรคในฝูง
    8. เมื่อเกิดโรคระบาดต้องทำลายไก่ป่วยและซากไก่ตายด้วยการฝังลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร โรยด้วยปูนขาว แล้วกลบดินทับปากหลุม หรือเผา นำวัสดุรองพื้นออกมาเผา ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร ภาชนะใส่อาหาร อุปกรณ์ต่างๆ พ่นภายใน ภายนอก และบริเวณรอบๆ คอก เล้า หรือโรงเรือนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และพักการเลี้ยงไก่ไว้ระยะหนึ่ง อย่าทิ้งซากไก่ลงในแม่น้ำลำคลอง อย่าให้น้ำที่ใช้ทำความสะอาดไหลลงแม่น้ำลำคลอง จะทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังแหล่งอื่น และแจ้งเจ้าหน้าที่ราชการโดยเร็วที่สุด
    9. ให้ยาบำรุง วิตามิน และแร่ธาตุ ละลายน้ำให้ไก่กินในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน หรือช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ไก่เครียด และติดโรคได้ง่ายที่สุด ควรให้กินติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน
    10. ปรึกษาสัตวแพทย์ในท้องที่เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง
  • ข้อปฏิบัติ 10 ข้อในการควบคุม-ป้องกันโรคระบาดไก่

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 17,928 Today: 3 PageView/Month: 52

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...